นาฬิกาชีวิตคืออะไร แล้วสำคัญกับร่างกายอย่างไร

นาฬิกาชีวิต

เมื่อเราพูดถึงนาฬิกาแน่นอนว่าต้องมีเรื่องเวลามาเกี่ยวข้อง เหมือนกับนาฬิกาชีวิต ที่เวลามีความสัมพันธ์กับระบบเวลาการทำงานร่างกายเรานั่นเอง

นาฬิกาชีวิตที่เราจะพูดถึงนี้ก็คือ ช่วงเวลาการทำงานของระบบอวัยวะภายในร่างกายของคนเราที่ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น ๆ ของอวัยวะในร่างกาย ฉะนั้นการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของเวลานาฬิกาชีวิตในช่วงเวลาของระบบอวัยวะนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะทำให้รระบบในร่างกายของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา เช่น ช่วงเวลา 07.00 – 09.00 เป็นเวลาของกระเพาะอาหาร “ร่างการต้องการพลังงาน ฉะนั้นการรับประทานอาหารเช้าจําเป็นในช่วงเวลานี้” เพราะ ช่วงนี้กระเพาะอาหารจะแข็งแรง สามารถย่อยอาหาร และดูดซึมได้ดีที่สุด ถ้าเราไม่ทานอาหาร กระเพาะ และม้ามจะอ่อนแอ ประกอบกับร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จําเป็น ทําให้ร่างกายสร้างเลือดได้น้อย ทำให้เลือดที่จะไปเลี้ยงสมองอาจไม่พอ มีผล ต่อสมาธิ ความจํา การตัดสินใจช้า ขี้กังวล แก่เร็ว และในระยะยาวอาจจะอ้วนได้

          เนื่องจากนาฬิกาชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้นนาฬิกาชีวิตจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพได้ โดยหากคนเรานอนหลับผิดเวลา หรือทำงานในเวลากลางคืน ก็จะส่งผลให้ร่างกายของเราผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และทำให้เกิดปัญหานอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่เพียงพอ อันจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายตามมาในภายหลัง ทีนี้เพื่อน ๆ พอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมคะว่านาฬิกาชีวิต สำคัญต่อร่างกายเราอย่างไร ถ้าอย่างนั้นเราไปดูกันดีกว่าค่ะ ว่าใน 1 วัน นาฬิกาชีวิตของร่างกายเราเป็นอย่างไรบ้าง

นาฬิกาชีวิตในแต่ละช่วงเวลา

  • เวลา 3.00 – 5.00 น. เป็นช่วงเวลาของปอด เพื่อให้ระบบหายใจได้ทำงานได้เต็มที่ และเซลล์ต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
  • เวลา 4.00 – 5.00 น เป็นช่วงที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงต่ำสุด ร่างกายควรได้รับความอบอุ่น หลีกเลี่ยงสภาวะอากาศเย็น
  • เวลา 7.00 – 9.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงาน ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารมื้อเช้า
  • เวลา 9.00 – 11.00 น. เป็นช่วงเวลาของม้ามและตับอ่อน โดยม้ามทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
  • เวลา 11.00 – 13.00 น. เป็นช่วงเวลาของหัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด
  • เวลา 13.00 – 15.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหาร
  • เวลา 15.00 – 17.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะ ปัสสาวะ ซึ่งทำหน้าที่เก็บน้ำกรองจากไต
  • เวลา 17.00 – 19.00 น. เป็นช่วงเวลาของไต เพื่อกรองของเสียออกจากเลือดและรักษาสมดุลในร่างกาย
  • เวลา 19.00 – 21.00 น. เป็นช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ
  • เวลา 21.00 – 23.00 น. เป็นช่วง เวลาของระบบทั้ง 3 (triple heater) ได้แก่ ระบบหายใจ ส่งผลต่อร่างกายช่วงบน(หัวใจ-ปอด)
  • เวลา 23.00 – 1.00 น. เป็นช่วงเวลาของถุงน้ำดี
  • เวลา 1.00 – 3.00 น. ช่วงเวลาของตับ เพื่อกำจัดสารพิษในร่างกาย

ระบบการทํางานในร่างกายของเรา มีวงจรการเข้างานของอวัยวะต่าง ๆ ตามธรรมชาติอย่างเป็นระบบระเบียบ  แต่การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน กลับส่งผลต่อระบบการทํางานของอวัยวะต่าง ๆ อย่างใหญ่หลวง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาอย่างคาดไม่ถึงนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากคุณมีเวลาการทำงานที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินตามนาฬิกาชีวิตได้ ก็อย่าลืมกินอาหารที่ดี ออกกำลังกาย และ ดูแลสุขภาพให้มากขึ้นนะคะ ไม่เช่นนั้นโรคภัยต่าง ๆ อาจจะมาเยือนในเร็ววัน